กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติในลักษณะอาสาสมัคร เพื่อช่วยขัดเกลาจิตใจของผู้เรียนให้มีความเมตตากรุณา มีความเสียสละ และมีจิตสาธารณะ เพื่อช่วยสร้างสรรค์สังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
หลักการ
กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์เป็นกิจกรรมที่ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและพัฒนาการทางสมอง เน้นให้ความสำคัญทั้งความรู้และคุณธรรมจริยธรรม จัดกิจกรรมโดยให้ผู้เรียนคิดสร้างสรรค์ออกแบบกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างหลากหลายรูปแบบ เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในลักษณะจิตอาสา
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกให้แก่ผู้เรียนในการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อครอบครัว โรงเรียน ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
๒. เพื่อให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและ
สาธารณประโยชน์ตามความถนัดและความสนใจในลักษณะอาสาสมัคร
๓. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ คุณธรรมจริยธรรม ตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์
๔. เพื่อให้ผู้เรียนมีจิตสาธารณะและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
ขอบข่าย
เป็นกระบวนการจัดกิจกรรมในลักษณะกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมอาสาพัฒนาหรือกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม โดยผู้เรียนดำเนินการด้วยตนเองในลักษณะอาสาสมัคร เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบ ความดีงาม ความเสียสละต่อสังคม และมีจิตสาธารณะ
แนวการจัดกิจกรรม
การจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ เน้นให้ผู้เรียนร่วมกันสำรวจและวิเคราะห์สภาพปัญหา ร่วมกันออกแบบการจัดกิจกรรม วางแผนการจัดกิจกรรม ปฏิบัติกิจกรรมตามแผน ร่วมสรุปและประเมินผลการจัดกิจกรรม ร่วมรายงานผล พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์และ
เผยแพร่ผลการจัดกิจกรรม
การจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ ผู้เรียนสามารถเลือกจัดกิจกรรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมได้ ดังนี้
๑. จัดกิจกรรมภายในโรงเรียน (กิจกรรมในวิถีชีวิตโรงเรียนเพื่อปลูกฝังจิตอาสา) เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนและครูที่ปรึกษากิจกรรมร่วมกันวางแผนปฏิบัติกิจกรรมจิตอาสาในวิถีชีวิตของชั้นเรียนและโรงเรียนจนเกิดเป็นนิสัยในการสมัครใจทำงานต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งงานเหล่านี้จะขยายขอบเขตจากใกล้ตัวไปสู่สังคมที่อยู่ภายนอกได้
๒. จัดกิจกรรมภายนอกโรงเรียน (กิจกรรมอาสาสมัครเพื่อสังคม) เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้รับการสนับสนุนตามแผนการจัดกิจกรรม โดยให้ทำกิจกรรมด้วยความสมัครใจที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมโดยรวมแนวการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ มีแนวการจัดดังนี้
๑. จัดกิจกรรมในลักษณะบูรณาการใน ๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยผู้เรียนสามารถจัดกิจกรรมตามองค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ของแต่กลุ่มสาระการเรียนรู้ตามความเหมาะสม
๒. จัดกิจกรรมลักษณะโครงการ/โครงงาน/กิจกรรม หมายถึง กิจกรรมที่ผู้เรียนนำเสนอการจัดกิจกรรมต่อโรงเรียนเพื่อขอความเห็นชอบในการจัดทำโครงการหรือโครงงาน หรือกิจกรรมซึ่งมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดที่ชัดเจน
๓. จัดกิจกรรมร่วมกับองค์กรอื่น หมายถึง กิจกรรมที่ผู้เรียนอาสาสมัครเข้าร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่น ๆ ที่จัดกิจกรรมในลักษณะเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ โดยผู้เรียนสามารถเลือกเข้าร่วมกิจกรรมได้ ดังนี้
๑) ร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เข้ามาจัดกิจกรรมในโรงเรียน
๒) ร่วมกับหน่วยงานอื่นที่จัดกิจกรรมนอกโรงเรียน
เงื่อนไข
๑. เวลาเข้าร่วมกิจกรรม ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมแลสาธารณประโยชน์อย่างต่อเนื่องทุกภาคเรียน/ปี โดยขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของสถานศึกษา
๒. เน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้จัดกิจกรรมด้วยตนเองทุกขั้นตอนและต่อเนื่อง โดยมีครูเป็นที่ปรึกษากิจกรรม
๓. ผู้เรียนจะจัดกิจกรรมหรือแสดงพฤติกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ในเวลาสถานที่ หรือรูปแบบของกิจกรรมใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมตามบริบทของแต่ละสถานศึกษา และขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของสถานศึกษา
การประเมินกิจกรรม
กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ ผู้เรียนต้องเข้าร่วมกิจกรรมให้ครบตาม
กรอบเวลาในโครงสร้างของหลักสูตรสถานศึกษา ดังนี้
๑. ระดับประถมศึกษา (ป.๑-ป.๖) มีเวลาเข้าร่วมกิจกรรม ๖๐ ชั่วโมง
๒. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.๑-ม.๓) มีเวลาเข้าร่วมกิจกรรม ๔๕ ชั่วโมง
๓. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.๔-ม.๖) มีเวลาเข้าร่วมกิจกรรม ๖๐ ชั่วโมง
การประเมินในแต่ละกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ มีผลการประเมิน
เป็น “ผ่าน” และ “ไม่ผ่าน” ดังนี้
ผ่าน หมายถึง ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมครบตามเวลา ปฏิบัติกิจกรรม
และมีผลงาน/ชิ้นงาน/คุณลักษณะตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
ไม่ผ่าน หมายถึง ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมไม่ครบตามเวลา ปฏิบัติกิจกรรม
หรือมีผลงาน/ชิ้นงาน/คุณลักษณะไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
ในกรณีที่ผู้เรียนไม่ผ่าน ครูที่ปรึกษาต้องให้ผู้เรียนซ่อมเสริมการทำกิจกรรมให้ครบตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด